วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

"พระราชวังพญาไท พระราชวังแห่งกษัตริย์รัชกาลที่ 6"



พระราชวังพญาไท หรือ วังพญาไท ตั้งอยู่ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พระราชทานนามให้ว่า "พระตำหนักพญาไท หรือวังพญาไท" ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชวังพญาไท


 ภาพกำลังสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 6

ณ พระราชวังแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนิพนธ์วรรณกรรมชิ้นเอกหลายเรื่อง งานด้านการปกครองที่โดดเด่น คือ ดุสิตธานี เมืองจำลองในพื้นที่ 2 ไร่เศษ ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งพระองค์ทรงใช้ประโยชน์ 2 ประการ คือปฏิบัติการทดลองปกครองและสอนระบอบประชาธิปไตย

          หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชวังแห่งนี้ไม่ได้ใช้เป็นพระราชฐานที่ประทับอีกต่อไป จึงได้มีการดัดแปลงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง โฮเต็ลพญาไทเริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ส่วนหนึ่งของพระราชวังเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียง ถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัสเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473

          เมื่อสถานีแห่งนี้ย้ายออกไปรวมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงศาลาแดง ทางราชการจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้เป็นที่ตั้งกองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ และในเดือนมกราคม พ.ศ.2489 ได้แปรสภาพกองเสนารักษ์เป็นโรงพยาบาล ต่อมากรมแพทย์ทหารบกได้อัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาสถาปนาเป็นชื่อโรงพยาบาล ในนาม "โรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า"
บริเวณพระราชวังจะประกอบไปด้วยหมู่พระที่นั่ง 5 องค์ คือ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ (ชื่อคล้องจองกันเลย) ขอให้ดูแผนผังประกอบ

แผนผังพระราชวังพญาไท


ลักษณะที่เด่นของพระราชวังพญาไท ก็คือ หอคอยสูง หลังคายอดแหลม สถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตกยุคเฟื่องฟู เน้นความเรียบง่ายแต่สง่างาม มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของเมืองไทย เห็นได้จากพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน และพระที่นั่งพิมานจักรีจะมีหน้าต่างเปิดกว้างหลายบาน ซึ่งรับลมได้ทุกด้าน


หอคอยสูง ของพระที่นั่งพิมานจักรี ที่ถือเป็นลักษณะเด่นของพระราชวังพญาไท ยอดโดมส่วนบนสุดไว้สำหรับชักธงมหาราชในเวลาที่องค์พระประมุขประทับอยู่ในพระราชฐาน


ด้านขวาคือพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน เมื่อเริ่มสร้างมีสองชั้น ต่อมามีการต่อเติมขึ้นอีกชั้นสำหรับใช้เป็นห้องพระบรรทมและห้องส่วนพระองค์

เมื่อเรามองจากทางด้านหน้าจะเห็นหมู่พระที่นั่ง 4 องค์เชื่อมต่อกันทั้งหมด จากด้านซ้ายสุดคือพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส มีทางเดินเชื่อมต่อในระดับชั้นที่สองของอาคารเข้าสู่พระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ประธาน ต่อด้วยพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน และต่อไปยังพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ พระที่นั่งทั้ง 4 องค์เป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน มีความสูง 2 ชั้น นอกจากพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานซึ่งได้ต่อเติมชั้นที่สามภายหลังเป็นห้องพระบรรทมและห้องส่วนพระองค์ ส่วนด้านหน้าของพระที่นั่งพิมานจักรี จะเป็นอาคารชั้นเดียวสำหรับเป็นที่เทียบรถพระที่นั่งและที่พักคอยขอเข้าเฝ้า

เมื่อเรามองจากทางด้านหน้าจะเห็นหมู่พระที่นั่ง 4 องค์เชื่อมต่อกันทั้งหมด จากด้านซ้ายสุดคือพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส มีทางเดินเชื่อมต่อในระดับชั้นที่สองของอาคารเข้าสู่พระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ประธาน ต่อด้วยพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน และต่อไปยังพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ พระที่นั่งทั้ง 4 องค์เป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน มีความสูง 2 ชั้น นอกจากพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานซึ่งได้ต่อเติมชั้นที่สามภายหลังเป็นห้องพระบรรทมและห้องส่วนพระองค์ ส่วนด้านหน้าของพระที่นั่งพิมานจักรี จะเป็นอาคารชั้นเดียวสำหรับเป็นที่เทียบรถพระที่นั่งและที่พักคอยขอเข้าเฝ้า
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เป็นท้องพระโรงเดิมในรัชสมัยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งเสด็จมาประทับที่วังพญาไทเมื่อปี พ.ศ.2453 ถือว่าเป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างก่อนพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ทั้งหมดในหมู่พระที่นั่งของพระราชวังพญาไท เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาในงานพระราชกุศล เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา ใช้รับรองแขกส่วนพระองค์ที่มาเข้าเฝ้า บางครั้งเป็นโรงละคร หรือโรงภาพยนตร์แล้วแต่โอกาส


ภาพขณะกำลังชมภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์


ภาพด้านข้างพระที่นั่งเทวราชสภารมย์


ภายในท้องพระโรงของพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ จะเห็นโครงหลังคาโค้งที่ทำด้วยไม้ ส่วนบนเป็นเฉลียงที่มีเสารับกับพื้น ติดด้วยเท้าแขนจำหลักลายทั้ง 4 ด้าน

พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่ง เป็นอาคารก่ออิฐ ฉาบปูน สูง 2 ชั้น มีจิตรกรรมสีปูนเปียก (fresco secco) บนเพดานและบริเวณด้านบนของผนัง เขียนเป็นลายเชิ้งฝ้าเพดานรูปดอกไม้ สวยงาม บานประตูเป็นไม้สลักลายปิดทอง เหนือบานประตูจารึกอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร.๖ ห้องที่น่าสนใจ คือ ท้องพระโรงกลาง ห้องพระบรรทมเดิม ห้องทรงพระอักษร ฯลฯ


ตัวอย่างภาพจิตรกรรมสีปูนเปียก (fresco secco)



ภาพถ่ายภายในพระที่นั่งพิมานจักรี จะเห็นว่าประตูจารึกอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร.๖

พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ห้องที่น่าสนใจเข้าชม คือ ห้องพระบรรทม และห้องพระสมุด ซึ่งบนเพดานมีภาพจิตรกรรมสีปูนเปียกเป็นรูปเทวดาน้อยสี่องค์ทรงดนตรีสี่ชนิด ดีด สี ตี เป่า ล่องลอยบนท้องฟ้า ในสมัยที่พระองค์ทรงประทับอยู่ ด้านหลังทรงทอดพระเนตรสวนโรมันและเมืองดุสิตธานี (เมืองจำลองประชาธิปไตย) ของพระองค์ได้ ระเบียงด้านหน้าทรงทอดพระเนตรในเขตพระนครได้ไกล  พระที่นั่งนี้เคยเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง กรุงเทพฯ ที่พญาไท เมื่อปี พ.ศ.2473

รูปเทวดาน้อยสี่องค์ทรงดนตรีสี่ชนิด ดีด สี ตี เป่า ล่องลอยบนท้องฟ้า

พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ เป็นพระตำหนักที่อยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งนี้มีลักษณะต่างไปจากพระที่นั่งองค์อื่น ๆ คือเป็นอาคารสูง 2 ชั้นที่เรียบง่าย หลังคาเป็นดาดฟ้า (ปัจจุบันสร้างหลังคาคลุม) ไม่มีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมภาพเขียนสีปูนเปียกตามเพดานและผนัง แต่พื้นประดับด้วยกระเบื้องลวดลาย เน้นบริเวณประตูทางเข้าที่เป็นลวดลายดอกกุหลาบ และบันไดขนาดใหญ่ตรงกลาง ราวบันไดเป็นเหล็กหล่อทำลวดลายคล้ายกับลายแบบอาร์ต นูโว ห้องชั้นบนมีลักษณะการวางผังเหมือนกันทั้งซ้ายและขวา ชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้าง พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระสุจริตสุดาพระสนมเอก มีสะพานเชื่อมในระดับชั้นที่ 2 ไปยังพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน

          ขณะนี้ในส่วนพระที่นั่งนี้ ไม่เปิดแบบสาธารณะให้นักท่องเที่ยวเข้าชมภายในได้ทุกห้องทุกมุม เพราะปัจจุบันได้ใช้เป็นสำนักงานที่ทำการของส่วนบังคับบัญชาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


ราวบันไดเป็นเหล็กหล่อทำลวดลายคล้ายกับลายแบบอาร์ต นูโว



ภาพบันไดวนในพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์

 
พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เดิมมีนามว่าพระที่นั่งลักษมีพิลาส ตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระชายาของรัชกาลที่ 6 อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งสูง 2 ชั้น ก่ออิฐฉาบปูน มีโดมขนาดเล็ก ลักษณะอาคารเป็นแบบอิงลิช โกธิค มีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานจักรีในระดับชั้น 2 ใช้เป็นที่รับรองแขกของเจ้านายฝ่ายใน ที่ฝาผนังตอนใกล้เพดาน และเพดานมีจิตรกรรมลักษณะแบบ อาร์ต นูโว เป็นลายดอกไม้ และที่ห้องสำคัญเป็นภาพชายหญิงและแกะ ซึ่งเป็นภาพเขียนสีแบบตะวันตก


จิตรกรรมลักษณะแบบ อาร์ต นูโว เป็นภาพชายหญิงและแกะ ซึ่งเป็นภาพเขียนสีแบบตะวันตก

พระตำหนักเมขลารูจี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระตำหนักอุดมวนาภรณ์มาจากพระราชวังดุสิต มาตั้งริมคลองอ่างหยกในพระราชวังพญาไท เพื่อเป็นที่ประทับชั่วคราวระหว่างการก่อสร้างพระราชมณเฑียร เป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ภายในเป็นห้องโถงต่อเนื่องกัน มีสระสรง ใช้เป็นที่สรงน้ำหลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ต่อมา เมื่อการก่อสร้างพระราชมณเฑียรแล้วเสร็จ และมีพระราชประสงค์ให้พระที่นั่งด้านตะวันออกใช้นามว่า พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระตำหนักแห่งนี้ใหม่เป็นพระตำหนักเมขลารูจี


พระตำหนักเมขลารูจี
สวนโรมัน ตกแต่งสวนเป็นลักษณะเรขาคณิต ประกอบด้วยศาลาที่ใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโรมัน ศาลาทรงกลมตรงกลาง มีหลังคาโดมรับด้วยเสาแบบคอรินเธียน ขนาบด้วยศาลาทรงสี่เหลี่ยมโปร่งไม่มีหลังคา มีการประดับด้วยตุ๊กตาปูนปั้นแบบโรมันบริเวณบันไดทางขึ้น ซึ่งต่อเนื่องกับด้านหน้าที่มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ในแนวแกนเดียวกับโดม มีทางเดินกว้างโดยรอบสระน้ำเชื่อมต่อกับศาลา ซึ่งศาลานี้ใช้เป็นเวทีการแสดงกลางแจ้งในบางโอกาส



สวนโรมัน


สิ่งที่สำคัญที่เหมาะแก่การเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในพระราชวังพญาไทในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้แก่ ดุสิตธานี หรือเมืองประชาธิปไตยย่อส่วน ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นเมืองจำลองขึ้นเพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว  แต่จะมีการแสดงนิทรรศการภายในพระที่พิมานจักรี และเป็นแหล่งเรียนรู้พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจต่างๆ และการตั้งกองลูกเสือในไทยเป็นครั้งแรก รวมไปถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของรัชกาลที่ 6 ทั้งในเช่นการพระราชทานนามสกุลเป็นครั้งแรก การให้พระราชวังเป็นโรงพยาบาล เป็นต้น
แหล่งเรียนรู้ช่วยให้ความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ในสมัยรัชการที่ 6 การจัดตั้งเมืองดุสิตธานี เพื่อปฏิบัติการทดลองปกครองและสอนระบอบประชาธิปไตย และได้เรียนรู้สถาปัตยกรรมจากตะวันตก และยังช่วยปลูกจิตสำนึกในเรื่องของการมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเกิดความภูมิใจในความเป็นไทยอีกด้วย


ทิวทัศน์ดุสิตธานี อาคารใหญ่ทางมุมซ้ายบนคือ โฮเต็ลเมโตรโปลที่ทวยนาครเข้าไปได้จริงๆ

เวลาเปิด-ปิด : พระราชวังพญาไท เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์ โดยมีวิทยากรนำชม 2 รอบ เวลา 9.30 น. และ 13.30 น. วันอื่นสามารถเดินชมบริเวณภายนอกได้
พิพิธภัณฑ์การแพทย์ทหารบกที่ชั้นล่างพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 11.00-15.00 น. ปิดวันเสาร์-จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
โทร. 02-354-7987, 02-354-7732, 02-354-7660 ต่อ 93646, 93694 (จันทร์-ศุกร์) 93698 (เสาร์)
เว็บไซต์ : http://www.phyathaipalace.org
การเดินทาง : รถประจำทาง: สาย 8, 12, 14, 18, 28, 92, 97, 108 ปอ.92, 509, 522, 536 ปอ.พ.4 รถส่วนตัว : มีที่จอดภายในบริเวณ
ค่าใช้จ่าย : ไม่เสียค่าธรรมเนียม





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น